การระงับหนี้ มีรูปแบบใดบ้าง
เมื่อติดหนี้ก็ต้องใช้หนี้ แต่เข้าใจกันดีหรือยังว่า การใช้หนี้สามารถใช้อย่างไรได้บ้าง การระงับหนี้ตามกฎหมายนั้นไม่ได้มีเพียงแค่การวางทรัพย์เพื่อใช้หนี้เท่านี้ แต่การระงับหนี้โดยหลักแล้วมีอยู่ 5 กรณีด้วยกัน คือ
- การชำระหนี้
- การปลดหนี้ คือ เจ้าหนี้ยอมปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยเสน่หา ทำโดยขีดฆ่าหรือคืนเอกสารหลักฐานการเป็นหนี้ให้แก่ลูกหนี้
- การหักกลบลบหนี้ ในกรณีที่บุคคลทั้งสองมีความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ก็เอาหนี้ซึ่งกันและกันมาหักกลบกันไป
- การแปลงหนี้ใหม่ คือการเปลี่ยนสาระสำคัญของหนี้ เช่น เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ เปลี่ยนตัวลูกหนี้ เปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ ตัวอย่างเช่น นายเอเป็นหนี้นายบีเป็นจำนวน 1,000 บาท พอถึงกำหนดชำระหนี้ นายบีผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ให้นายเอขับรถส่งของแทนตนเป็นการชำระหนี้แทนเงิน
- หนี้เกลื่อนกลืนกัน คือ หนี้ที่ความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้อยู่ในตัวคนเดียวกัน เช่นนางแววเป็นหนี้นายวี 40,000 บาท แต่ภายหลังนายวีตาย และทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่นางแววแต่เพียงผู้เดียว หากเป็นเช่นนี้กฎหมายให้ถือว่าหนี้ระงับสิ้นไป เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้ตายตกอยู่ในตัวคนผู้เป็นลูกหนี้แล้ว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำความเข้าใจว่า กรณีหนี้ขาดอายุความเป็นเพียงกรณีที่ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีต่อกันได้เท่านั้น แต่สภาพความเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ยังคงอยู่ ยังไม่ถือเป็นการระงับหนี้แต่อย่างใด
เรื่องหนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็มีรายละเอียดสำคัญแฝงอยู่เช่นเดียวกัน จัดเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เรื่องเล็กๆ เช่นนี้ทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมาภายหลังได้