ขายฝากกับฝากขาย เหมือนกันหรือไม่ ?
ขายฝาก คือ การทำนิติกรรมกู้ยืมเงินอย่างหนึ่ง โดยมีอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ของผู้ขายฝาก (ลูกหนี้) เป็นหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำสัญญาโดยใช้อสังหาริมทรัพย์ในการขายฝากมากกว่า ซึ่งผู้รับขายฝาก (เจ้าหนี้) จะได้รับดอกเบี้ยสูงสุดต่อปี 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการขายฝากลูกหนี้จะได้รับการอนุมัติกู้ยืมเงินอย่างรวดเร็วไม่ต้องรอผ่านธนาคาร และมีโอกาสที่จะได้อนุมัติวงเงินสูงสุดมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของราคาประเมิน ซึ่งลูกหนี้ต้องโอนทรัพย์สินให้เจ้าหนี้ต่อหน้าเจ้าหน้าที่พนักงาน ณ กรมที่ดิน และลูกหนี้สามารถไถ่ถอนทรัพย์สินคืนได้ตามระยะเวลากำหนด (ไม่เกิน 10 ปีตามกฎหมาย) โดยเจ้าหนี้ต้องคืนทรัพย์สินให้โดยไม่มีข้อยกเว้น นอกเสียจากว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จนเลยระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่มาขอต่อสัญญา เจ้าหนี้จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งเจ้าหนี้จะนำทรัพย์สินนั้นไปทำอะไรต่อก็ได้ แต่หากยังอยู่ในช่วงเวลาระหว่างสัญญาการขายฝากเจ้าหนี้ไม่สามารถนำทรัพย์สินนั้นไปทำนิติกรรมใด ๆ ได้
ฝากขาย คือ การที่ผู้ฝากขาย (เจ้าของอสังหาริมทรัพย์) ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน ที่ดิน คอนโด และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ฝากให้ผู้รับฝากขาย (ตัวแทนนายหน้าหรือบริษัทโบรกเกอร์อสังหาริมทรัพย์) ช่วยขายบ้านขาย ที่ดิน หรือคอนโดให้ ซึ่งตัวแทนนายหน้าหรือบริษัทโบรกเกอร์อสังหาริมทรัพย์จะช่วยโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถขายทรัพย์สินได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น โดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นให้ตัวแทนนายหน้าประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ของหลักทรัพย์ที่ขายได้ โดยกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ไม่ได้โอนไปให้ตัวแทนนายหน้า แต่จะโอนให้ผู้ซื้อเมื่อขายทรัพย์สินได้จริง ซึ่งการฝากขายควรมีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันอย่างถูกต้อง
สรุปความแตกต่างของการขายฝากกับฝากขาย
- การขายฝากเป็นการทำนิติกรรมกู้ยืมเงินอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำสัญญาระหว่างผู้ขายฝาก (ลูกหนี้) กับผู้รับขายฝาก (เจ้าหนี้) แต่การฝากขายคือการที่ผู้ฝากขาย (เจ้าของทรัพย์สิน) ให้ผู้รับฝากขาย (ตัวแทนนายหน้า) ช่วยขายทรัพย์สินแทน โดยได้ค่าตอบแทนเป็นกำไรจากผู้ฝากขาย
- การขายฝากผู้ขายฝากต้องโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้ผู้รับขายฝาก โดยได้รับวงเงินอนุมัติสูงกว่าราคาประเมินโดยไม่ต้องผ่านธนาคาร ซึ่งผู้ขายฝากสามารถไถ่ถอนทรัพย์สินคืนได้ตามเวลากำหนด แต่การฝากขายผู้ฝากขายไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้รับฝากขาย ผู้รับฝากขายไม่ใช่ลูกหนี้ถือเป็นตัวแทนเท่านั้น ซึ่งกรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อทำการขายทรัพย์สินได้จริง
- หน้าที่ของผู้ขายฝาก คือต้องชำระหนี้ให้ผู้รับขายฝากตามระยะเวลาที่กำหนด จึงจะสามารถไถ่ถอนทรัพย์สินคืนได้ ส่วนหน้าที่ของผู้ฝากขาย คือต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้รับฝากขาย เช่น ในเรื่องของการให้กำไรส่วนแบ่งของทรัพย์สินที่ขายได้
- สรุปแล้ว การขายฝากกับการฝากขาย เป็นคำที่มีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแต่ละแบบก็มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการที่แตกต่างกัน หวังว่าผู้อ่านจะเลือกใช้คำได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจความหมายของคำว่าขายฝาก กับ ฝากขาย กันอย่างชัดแจ้งมากขึ้น
รู้จักการขายฝากเพิ่มเติมได้ที่ ข้อดีของสัญญา ขายฝาก