ครอบจำนอง
สิทธิจำนองครอบทรัพย์สินซึ่งจำนองเพียงใด
1. สิทธิจำนองครอบทรัพย์สินซึ่งจำนองในทรัพย์สินทุกสิ่ง
จำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่ง แม้จะได้ชำระหนี้แล้วบางส่วน
กรณีเอาทรัพย์สินหลายสิ่งมาจำนองเป็นประกันหนี้รายเดียวกันหรือกรณีจำนองที่ดินแล้วต่อมามีการแบ่งแยกโฉนดออกเป็นหลายโฉนด ถึงแม้จะมีการชำระหนี้จำนองบางส่วนแล้วก็ตาม สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์สินทุกรายการหรือทุกสิ่งที่จำนอง เว้นแต่จะมีการตกลงเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ถ้ามีลูกหนี้จำนองขอชำระหนี้บางส่วนเพื่อให้ทรัพย์สินที่จำนองบางสิ่งปลอดจำนอง ย่อมเป็นสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ได้
ตัวอย่าง เช่น จำเลย เป็นหนี้จำนวน 42,000,000 บาทเศษ แม้ชำระหนี้ไปแล้วจำนวน 1,300,000 บาท การจำนองก็ยังคงครอบไปถึงที่ดินที่จำนองทุกแปลง เว้นแต่ผู้รับจำนองยินยอม ก็สามารถปลอดจำนองที่ดินแปลงนั้นได้ ดังนั้น การที่ชำระหนี้จะต้องรับผิดเพียงบางส่วน เพื่อให้ที่ดินปลอดจากจำนอง ย่อมเป็นสิทธิที่จะยอมรับหรือไม่ แต่ถ้าไม่ยินยอม ก็ไม่มีทางที่จะบังคับให้ยินยอมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้
จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ในอีกคดีหนึ่งฟ้องบริษัท ส.ขอให้บังคับจำนองที่ดินหลายแปลงซึ่งรวมถึงที่ดินในคดีนี้ ที่บริษัท ส. เป็นลูกหนี้อยู่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากบริษัท ส. ที่ต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในการที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหากปล่อยให้บังคับคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้ให้จำเลยแทนบริษัท ส. ได้ตามกฎหมายแต่แม้ว่าจะมีการไถ่ถอนจำนองไปบางส่วนแล้ว ทรัพย์สินซึ่งจำนองทั้งหมดที่เหลืออยู่ก็จะต้องเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาจำนองของเงินจำนวนทั้งหมดที่ค้างอยู่ เมื่อหนี้จำนองที่บริษัท ส. มีต่อจำเลยยังเหลืออยู่อีก 5,396,629.37 บาท แต่มีที่ดินเหลืออยู่เพียงแปลงเดียวการไถ่ถอนจำนอง ก็ต้องชำระหนี้ทั้งหมดที่บริษัท ส.เป็นหนี้จำเลยอยู่ โจทก์จะบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเพียง 386,788.60 บาท ไม่ได้