ค่าปากถุง, เงินปากถุง, เงินค่าธรรมเนียมการบริการ คือ เงินที่ผู้ให้กู้,เจ้าหนี้,นายทุน เรียกเก็บในเวลาให้กู้เงิน นั่นเอง
ค่าปากถุง, เงินปากถุง = brokerage, fee, service charge
ค่าปากถุง, เงินปากถุงหรือเรียกด้วยภาษาราชการว่า ค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ถ้าในภาษาต่างประเทศอาจใช้คำว่า เงินฟรอนท์ มักเรียกใช้กันในวงการเงิน เป็นเงินที่เจ้าหนี้,นายทุน หรือสถาบันการเงิน,ธนาคาร หักจากเงินกู้ไปตั้งแต่เกิดการกู้เงิน
อัตราการคิดเงินปากถุงนั้นไม่มีกำหนดตายตัว เจ้าหนี้บุคคลธรรมดาอาจคิดร้อยละ 5 จากจำนวนเงินกู้ ส่วนสถาบันการเงินแต่ละที่ก็มีอัตราที่แตกต่างกันไปตามที่เขากำหนดเอง จึงพบว่าสถาบันการเงินบางแห่งเรียกร้อยละ 5-10 จากจำนวนเงินกู้ อัตรานี้ธนาคารชาติไม่ได้มีข้อกำหนด ดังนั้นทั้งนายทุนเอง หรือสถาบันการเงินมักพิจารณาจากความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนดูความน่าเชื่อถือของลูกหนี้นั่นเอง
การคิดเงินปากถุงหรือค่าปากถุง หรือค่าธรรมเนียมการกู้เงินนั้น มีทั้งการกู้เงินระดับชาวบ้าน หรือสถาบันการเงินตลอดจนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศในนามของประเทศ ก็มีการคิดเงินเหล่านี้รวมไปด้วยและใช้วิธีปฏิบัติเดียวกัน โดยอาจเรียกชื่อแตกต่างในภาษาต่างชาติว่าเงินฟรอนท์ ก็ได้ เมื่อมีข้อตกลงเงื่อนไขการกู้เงินระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้ว ในวันรับเงินกู้นั้นเจ้าหนี้จะหักเงินปากถุงไว้ตามระเบียบที่เจ้าหนี้กำหนด ลูกหนี้จึงรับเงินส่วนที่เหลือจากการหักนั้นไปใช้สอยได้ แต่คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้เต็มตามสัญญา
ระหว่างเงินปากถุงของเจ้าหนี้ทั่วไป กับสถาบันการเงินในต่างประเทศมีความแตกต่างกันดังนี้ คือ กรณีเจ้าหนี้ทั่วไปซึ่งมีลูกหนี้ระดับชาวบ้านนั้น ค่าปากถุงจะเป็นค่าดำเนินการต่างๆของเจ้าหนี้ เช่น ค่าบุคคลที่แนะนำให้พบกับเจ้าหนี้,ค่านายหน้า,ค่าน้ำมัน,ค่ารถ,ค่าเดินทาง,ค่าโทรศัพท์,ค่าทางด่วน,จิปาถะ ตลอดจนค่าประกันความเสี่ยงด้วยนั่นเอง ส่วนลูกหนี้ระดับประเทศนั้นค่าปากถุงถูกแบ่งจ่ายให้แก่ผู้แทนประเทศที่ ลงนามในสัญญาเงินกู้ด้วย เงินค่าปากถุงจึงเป็นค่าสินน้ำใจที่เจ้าหนี้ตอบแทนตัวแทนลูกหนี้ซึ่งคือ ผู้แทนรัฐบาลลูกหนี้ หรือนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลนั่นเอง ส่วนอัตราเงินค่าปากถุงนั้นแล้วแต่เจ้าหนี้กับรัฐบาลลูกหนี้จะตกลงกัน โดยเงินส่วนนี้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล และตรวจสอบยาก เพราะเป็นการหักในนามค่าธรรมเนียมเงินกู้โดยเจ้าหนี้ แต่จ่ายกันเป็นการส่วนตัวตามข้อตกลงของแต่ละคน แต่หนี้ที่เกิดขึ้น เป็นหนี้ของประเทศ ประชาชนทุกคนต้องแบกรับกันถ้วนหน้า ( เงินปากถุงหรือ ค่าปากถุงในกรณีนี้เราจะเรียก เงินคอร์รัปชั่นกันไหม ) ดังนั้นหลังจากมีการกู้เงินระหว่างประเทศกันเรียบร้อยแล้ว นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลซึ่งได้รับค่าปากถุงกันไปแล้วนั้นมักร่ำรวยกันผิดหูผิดตา