สำหรับการขายฝากนั้น ถ้ามองแล้วจะเหมือนกับการขาย เพราะว่ากรรมสิทธิ์ถูกโอนไปยังผู้รับซื้อฝาก
ดังนั้น สิ่งที่ต้องรู้ก่อนทำการขายฝาก คือ ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนขายฝากจะสูงกว่าการจำนอง
โดยคิดในอัตรา 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ แถมยังต้องชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ในกรณีที่ครอบครองไม่ถึง 5 ปี) และอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากนิติกรรมการขายฝากและนิติกรรมการจำนองนั้นเป็นนิติกรรมคนละประเภทกัน
โดยการคำนวณภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์นั้น จะแยกออกเป็น 2 กรณี
คือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล ซึ่งเสียภาษีแตกต่างกัน ดังนี้
กรณีของบุคคลธรรมดานั้น จะได้สิทธิเสียเฉพาะภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการครอบครองสินทรัพย์ หากครอบครองเกิน 5 ปี หรือมีกรรมสิทธิในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี
จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่เสียค่าอากรแสตมป์เท่านั้น
นอกจากนั้นอาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการขายฝาก ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายคำขอขายฝาก ค่าพยาน ฯลฯ อีกด้วย