สัญญาขายฝาก
การทำสัญญาขายฝากนั้น ควรศึกษารายละเอียดของสัญญาให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ขายฝากและผู้ซื้อฝาก ซึ่งก็คือผู้มีสิทธิไถ่และผู้รับการไถ่นั่นเอง โดยทางกรมที่ดินมีคำแนะนำที่จำเป็นดังนี้
สัญญาขายฝากที่กำหนดเวลาไถ่ไว้ต่ำกว่าสิบปี ก่อนจะครบกำหนด หากผู้ขายฝากเห็นว่าไม่อาจใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดได้ ควรตกลงกับผู้ซื้อฝากเพื่อขอขยายกำหนดเวลาไถ่ และต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ซื้อฝาก โดยทั้งสองฝ่ายต้องนำข้อตกลงดังกล่าวมาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ขอจดทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ไปแล้วจะต้องมีหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ซื้อฝากที่ได้ทำขึ้นก่อนสิ้นสุดกำหนดเวลาไถ่มาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
การจดทะเบียนไถ่ถอนจากขายฝากเป็นคนละส่วนกับการใช้สิทธิไถ่ เพราะการจดทะเบียนไถ่ถอนจะทำเมื่อใดก็ได้ แต่การใช้สิทธิไถ่ต้องทำภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝาก โดยนำสินไถ่ส่งมอบแก่ผู้รับการไถ่ภายในกำหนด หากผู้รับการไถ่หลีกเลี่ยงไม่ยอมให้มีการไถ่ ให้นำสินไถ่ไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ สำหรับส่วนภูมิภาค วาง ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาค หรือสำนักงานบังคับคดีจังหวัด สำหรับจังหวัดที่ไม่มีให้ติดต่อจ่าศาลของศาลจังหวัดนั้นๆ เพื่อจัดส่งแก่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ภูมิภาคต่อไป ทั้งนี้เมื่อใช้สิทธิไถ่แล้วควรรีบมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเร็ว หากทิ้งไว้อาจเกิดความเสียหายได้
ในการจดทะเบียนขายฝากจะต้องชำระค่าธรรมเนียมเป็นค่าจดทะเบียนขายฝากในอัตราร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนด นอกจากนี้ยังต้องชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร
จะเห็นว่าการทำสัญญาใดๆ ควรศึกษาข้อกำหนดให้ครบถ้วน เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและป้องกันการเกิดปัญหาในภายหลังนั่นเอง